พัฒนาการ หมายถึง แบบแผนของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านความเจริญเติบโตและการเสื่อมของมนุษย์ ตั้งแต่มีการปฏิสนธิต่อเนื่องกันไปจนตลอดวงจรชีวิต
นักจิตวิทยาได้แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ออกเป็น 4 ด้าน คือ
1. พัฒนาการทางด้านร่างกาย หมายถึง ความเจริญเติบโตที่เกี่ยวกับร่างกายทั้งหมด
2. พัฒนาการทางด้านสติปัญญา หมายถึง ความสามารถในด้านความคิด ความจำ ความมีเหตุผล ความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
3. พัฒนาการทางด้านอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมให้อยู่ในภาวะที่สังคมยอมรับ
4. พัฒนาการทางด้านสังคม หมายถึง ความสามารถในการที่จะปรับตนให้เข้ากับสังคมที่ตนอยู่ได้เป็นอย่างดี และสามารถปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตนเองได้
การนำความรู้เรื่องพัฒนาการไปใช้ในการเรียนการสอน
1.การเรียนการสอนควรเป็นลักษณะบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันเพราะพัฒนาการของมนุษย์เป็นไปในลักษณะประสานสัมพันธ์กันทุกส่วน
2.เด็กมีความแตกต่างกัน การเรียนการสอนที่ดี คือ การเรียนการสอนที่สนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก เช่น เรื่องความสนใจ ความต้องการแรงจูงใจ ความพร้อมและความสามารถของเด็กแต่ละคน
3.การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ดี ควรคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของเพศหญิง และเพศชาย เพราะมีพัฒนาการแตกต่างกัน
4.พัฒนาการของมนุษย์ทุกคนเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ดังนั้นการจัดหลักสูตร และการดำเนินการสอนควรจัดเรียงตามลำดับก่อน-หลัง ของความยาก ง่าย และสอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
ความหมายของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
พันธุกรรม (Heredity) หมายถึง การถ่ายทอดลักษณะต่างๆจากบรรพบุรุษไปสู่ลูกหลาน ด้วยวิธีการสืบพันธ์ โดยมียีนส์ซึ่งอยู่บนโครโมโซมเป็นตัวถ่ายทอดลักษณะต่างๆ
สิ่งแวดล้อม (Environment) หมายถึง สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเราหรือหมายถึงสิ่งเร้าต่างๆ ที่มักเกี่ยวข้องกับตัวเราทำให้เรามีการกระทำ สิ่งเหล่านั้นอาจเป็น คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ฯลฯ สิ่งแวดล้อมนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งเร้าที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของมนุษย์นอกเหนือไปจากพันธุกรรม
ความสำคัญของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อพัฒนาการ
จากการศึกษาเรื่องพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมเป็นที่ยอมรับแล้วว่า ลักษณะพัฒนาการของแต่ละคนมาจากการทำงาน ร่วมกันระหว่างพันธุกรรมสิ่งแวดล้อม โดยที่พันธุกรรมเป็นตัวกำหนดขอบเขตการพัฒนาการของบุคคล ส่วนสิ่งแวดล้อมช่วยส่งเสริม หรือขัดขวางพัฒนาการใดๆ
ประโยชน์ของความรู้เรื่องพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อครู
1. ช่วยให้ครูทราบลักษณะความแตกต่างและขอบเขตความสามารถ ของเด็กแต่ละคนว่าสาเหตุมาจากอะไร
2. ช่วยให้ครูเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และพยายามปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็ก
3.ช่วยให้ผู้ปกครองและครูสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของเด็กได้ทันเวลา และหาทางส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ให้เหมาะสมกับขอบเขตความสามารถ
ทฤษฏีพัฒนาการ
ความหมายและความสำคัญของทฤษฏีพัฒนาการ
ทฤษฏีพัฒนาการคือ คำอธิบายที่เป็นผลสรุปจากการศึกษาพัฒนาการ และพฤติกรรมมนุษย์ ทุกทฤษฏีจัดตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อบางประการ การศึกษาทฤษฏีต่างๆ ที่เกี่ยวกับพัฒนาการ จะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจลักษณะของพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ในบทนี้จะขอเสนอทฤษฏีพัฒนาการบางทฤษฏี เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจ ทฤษฏีที่จะกล่าวถึงได้แก่
1) ทฤษฏีวุฒิภาวะ (Maturation Theories)
ทฤษฏีนี้ได้อธิบายแบบแผนการเจริญเติบโต และพัฒนาการที่แตกต่างกันไปตามอายุ โดยมีความคิดอยู่บนพื้นฐานที่ว่า พัฒนาการของมนุษย์เป็นผลมาจากพันธุกรรม ทฤษฏีนี้ได้รับอิทธิพลจากทฤษฏีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน (Charies Darwin , 1809-1882)
2) ทฤษฏีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (Freud’s Psychoanalytic Theory)
ทฤษฏีจิตวิเคราะห์นับได้ว่าเป็นทฤษฏีที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ โดยที่ ฟรอยด์ เป็นผู้หนึ่งที่เห็นความสำคัญของประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมในวัยเด็กว่ามีผลต่อลักษณะพัฒนาการ และบุคลิกภาพในวัยเจริญเติบโต เขาเชื่อว่า 5 ปีแรกของชีวิตจะมีความสำคัญกับพัฒนาการทางบุคลิกภาพมากที่สุด และพัฒนาการทางบุคลิกภาพเป็นไปตามลำดับขั้นตอน เรียกว่า ขั้นพัฒนาการทางเพศ
3) ทฤษฏีพัฒนาการทางจิตสังคม
อีริก อิริกสัน (Erik Erikson) เป็นนักจิตวิทยาในกลุ่มจิตวิเคราะห์ เขาสนใจทฤษฏีของ ฟรอยด์ และเป็นลูกศิษย์ของฟรอยด์ อีริกสันเน้นความสำคัญ ของความสำคัญและความต้องการทางจิตสังคม เขาเน้นว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อพัฒนาการ โดยเฉพาะบุคคลแวดล้อม
4) ทฤษฏีพัฒนาการทางสติปัญญา และความคิด (Cognitive Development Theory)
ผู้สร้างทฤษฏีนี้คือ นักจิตวิทยาชาวสวิส ชื่อ จีน พีอาเจต์ เขาพบว่าวิธีการคิดและการให้เหตุผลในสิ่งต่างๆของเด็กน่าสนใจมาก จึงได้ศึกษาพัฒนาการทางความคิดขึ้นในบ้าน โดยสังเกตพฤติกรรมบุตรชาย หญิงของตน
5) ทฤษฏีพัฒนาการทางจริยธรรม (Moral Development Theory)
ทฤษฏีพัฒนาการนี้ คือทฤษฏีของ ลอเรนซ์ โคลเบิร์ก เขาได้พัฒนาทฤษฏีของเขาขึ้น ทฤษฏีของ โคลเบิร์ก เป็นทฤษฏีที่มีรากฐานมาจาก ทฤษฏีของ พีอาเจต์ โคลเบิร์กได้แบ่งพัฒนาการออกเป็น 3 ระดับแต่ระดับแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น